10 พ.ค. 63 - ความจริงของสิ่งที่เรียกว่าทุกข์ : มีเรื่องเล่าว่าชายผู้หนึ่งเข้าไปกราบทูลระบายความทุกข์กับสมเด็จพระสังฆราชเจ้าพระองค์หนึ่ง เขาเอาแต่บ่นว่า “หนักครับ.....ช่วงนี้แย่มากเลยครับ” เมื่อสมเด็จ ฯ ถามว่าหนักเรื่องอะไร เขาก็ทูลเล่าถึงปัญหาต่าง ๆ ที่รุมเร้าชีวิต สุดท้ายก็ทูลว่า “ตอนนี้ผมจวนจะแบกไม่ไหวแล้วครับ”
สมเด็จ ฯ ฟังสักพัก ก็รับสั่งให้เขานั่งคุกเข่าและยื่นมือทั้งสองออกมาข้างหน้า แล้วพระองค์ก็หยิบกระดาษแผ่นหนึ่งมาวางบนฝ่ามือทั้งสองของเขา แล้วรับสั่งว่า “นั่งอยู่นี่แหละ อย่าขยับหรือไปไหนจนกว่าข้าจะกลับมา จะเข้าไปข้างในสักประเดี๋ยว”
เขานั่งอยู่ในท่านั้นเป็นเวลานาน แต่สมเด็จ ฯ ก็ยังไม่เสด็จออกมาเสียที จนเขาเริ่มเมื่อยล้า กระดาษดูจะหนักขึ้นเรื่อย ๆ จนเหงื่อเริ่มออก
ในที่สุดสมเด็จ ฯ ก็เสด็จเข้ามาประทับที่เดิม แล้วทรงถามชายผู้นั้นว่าเป็นอย่างไร
“หนักครับ พระเดชพระคุณ เมื่อยจนจะทนไม่ไหว”
“อ้าว ทำไมไม่วางมันลงเสียละ ?” สมเด็จ ฯ รับสั่ง “ก็ไปยอมให้มันอยู่อย่างนั้น มันก็หนักอยู่ยังงั้นนะซี มันจะเป็นอย่างอื่นไปได้ยังไง”
กระดาษแม้จะบางเบา แต่ถ้าไปยึดถือมันนาน ๆ ก็จะกลายเป็นของหนักจนสู้ไม่ไหว อารมณ์โกรธเกลียด ท้อแท้ กลัดกลุ้ม แม้จะจับต้องไม่ได้ แต่ถ้าไปแบกไว้ทั้งวันทั้งคืน ใจเรานั่นแหละที่จะแย่ ตรงกันข้ามกับหินก้อนใหญ่ ตราบใดที่ไม่ไปอุ้มไปแบก ก็ไม่มีวันหนัก
เป็นเพราะไม่รู้ตัวใช่ไหมเราจึงเผลอไปแบกหรือยึดความทุกข์เอาไว้ ทั้ง ๆ ที่ยิ่งแบกยิ่งยึดก็ยิ่งทุกข์ แต่ก็ยังไปแบกไปยึดอยู่นั่นเองเพราะทำจนเป็นนิสัยเสียแล้ว ความรู้ตัวจึงเป็นกุญแจสำคัญที่จะไขไปสู่หนทางแห่งความไม่ทุกข์ เพราะเมื่อรู้ตัวแจ่มชัดเราก็ประจักษ์แก่ใจว่าได้เผลอแบกยึดอะไรต่ออะไรไว้มากมาย ถึงตอนนั้นการปล่อยวางก็เกิดขึ้นได้ไม่ยาก ฉะนั้นไม่ว่าทำอะไรอยู่ก็ตาม ควรหมั่นมองตนสำรวจจิตเพื่อให้รู้เท่าทันความรู้สึกนึกคิดอยู่เสมอ ความรู้ตัวนี้แหละจะช่วยปลดเปลื้องสิ่งหมักหมมที่ค้างคาในจิตใจจนทำให้ชีวิตเบาสบาย