สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็น ‘นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม’ และเป็นที่รู้จักกันในนาม ‘สมเด็จครู’ ทรงเป็นบุคคลต้นแบบด้านศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมไทยที่ส่งอิทธิพลต่อช่างไทยรุ่นหลังตราบจนถึงปัจจุบัน
หลังจาก ต้า-ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล และ ทัน-อธิภัทร แสวงผล พาไปชมและเล่าหนึ่งในผลงานที่ได้รับการยกย่องอย่างสูงที่สุดอย่าง วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ไปแล้วในตอนก่อน วันนี้รายการอารามบอยจะพาคุณไปรู้จักอีกหนึ่งผลงานทางสถาปัตยกรรมของสมเด็จครูใน ‘วัดราชาธิวาสวิหาร’
วัดที่ รัชกาลที่ 4 เคยทรงผนวชเป็น พระวชิรญาณภิกขุ และทรงริเริ่มธรรมยุติกนิกายขึ้นที่นี่ เพื่อฟื้นฟูพระพุทธศาสนาให้กลับมาตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด ทั้งยังได้รับอิทธิพลจากแนวคิดสมัยใหม่และพระภิกษุฝ่ายรามัญ
และวัดนี้เองยังเป็นที่ที่สมเด็จครูออกแบบพระอุโบสถหลังพิเศษที่ผสมผสานศิลปะไทย ขอม และตะวันตกไว้อย่างกลมกลืน กลายเป็นต้นแบบให้กับอุโบสถยุคหลังอีกหลายแห่ง
เมื่อคุณเดินเข้าสู่วัดราชาธิวาสวิหาร สิ่งแรกที่สะดุดตาคือพระอุโบสถที่สมเด็จครูทรงออกแบบไว้อย่างวิจิตร ผสมผสานศิลปะไทย ขอม และตะวันตก เข้าไว้ด้วยกันอย่างกลมกลืน จนเกิดเป็นพระอุโบสถรูปแบบพิเศษที่มีเพียงหลังเดียวในยุคนั้น และมีอิทธิพลให้ในการออกแบบอุโบสถสมัยใหม่ยุคหลังของวัดอีกหลายแห่ง
ส่วนพระพุทธรูปประธาน พระสัมพุทธพรรณี ประดิษฐานภายในซุ้มเสาแบบตะวันตกที่มีพระราชลัญจกรของรัชกาลที่ 1 - 5 เรียงราย ด้านหลังพระประธานยังคงมีพระพุทธรูปดั้งเดิมจากสมัยอยุธยา โดยไม่มีการย้ายออก เพียงแต่กั้นผนังไว้ เพราะถ้าย้ายไปก็เสมือนไล่เจ้าของเดิม
ผนังด้านในพระอุโบสถ บรรจงเขียนภาพเรื่อง พระเวสสันดรชาดก ทั้ง 13 กัณฑ์ โดยฝีมือร่างแบบของสมเด็จครู และลงสีโดย คาร์โล ริโกลี จิตรกรชาวอิตาเลียน ผสมจินตนาการแบบไทยกับเทคนิคแบบตะวันตก
อ้อมไปด้านหลังพระอุโบสถ คือเจดีย์ล้อมสิงห์ ทรงแปลกตา ได้แรงบันดาลใจจากศิลปะอินเดียผสมอยุธยา ภายในซุ้มบรรจุพระพุทธรูปศิลปะชวาที่รัฐบาลดัตช์ถวายรัชกาลที่ 5
และไม่ไกลกันคือศาลาการเปรียญที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก วัดใหญ่สุวรรณารามและ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ โดยมีธรรมาสน์ 2 องค์ที่สมเด็จครูออกแบบขึ้นใหม่โดยเฉพาะ
อาคารอีกหลังที่น่าสนใจคือพระตำหนักสมเด็จพระพันปีหลวง อดีตพระตำหนักพญาไท ที่ถูกย้ายมาประกอบเป็นกุฏิพระในวัด และยังคงกลิ่นอายสถาปัตยกรรมรัชกาลที่ 6 อย่างครบถ้วน
ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถด้านการออกแบบของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ อย่างแท้จริง โดยหนึ่งในหลักฐานสำคัญคือเมื่อครั้งถวายงานออกแบบแผ่นศิลาจารึกโรงเรียนวัดเบญจมบพิตร (ที่ต่อมามีชื่อว่า ศิลาจารึกรูปสุนทรีวาณี) โดยพระองค์ทรงออกแบบลายเส้นขึ้นด้วยพระองค์เอง เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายรัชกาลที่ 5 และทันทีที่พระองค์ทอดพระเนตรแบบที่ 1 ก็ทรงพอพระราชหฤทัยอย่างยิ่ง ถึงขั้นไม่ทอดพระเนตรแบบอื่นอีกเลย พร้อมมีพระราชหัตถเลขาลงวันที่ 17 เมษายน ความตอนหนึ่งว่า
ฉันไม่ได้นึกยอเลย แต่อดไม่ได้ว่า เธอเป็นผู้นั่งอยู่ในหัวใจฉันเสียแล้ว
นั่นคือความรัก ความไว้วางพระราชหฤทัย และการยอมรับอย่างที่สุดในพระปรีชาของสมเด็จครู และหากคุณอยากรู้จักพระองค์ให้มากขึ้น ผ่านงานศิลป์ งานสถาปัตยกรรม และความคิดเบื้องหลังผลงานที่ยังมีอิทธิพลมาถึงปัจจุบัน เราขอชวนคุณไปฟังทั้งหมดได้เลยในรายการอารามบอยตอนนี้