ทำชีวิตให้เจริญ ทั้งทางโลกและทางธรรม [6716-1u]
Q1: การสวดมนต์โดยไม่รู้ความหมาย
A: เหตุที่ต้องสวดมนต์เป็นภาษาบาลี เพราะการสาธยายธรรมด้วยภาษาที่เป็นต้นฉบับจะเป็นไปเพื่อรักษาคำสอนของพระพุทธเจ้า การสวดมนต์ภาษาบาลีแม้ไม่รู้ความหมาย แต่เมื่อบทสวดมนต์ทั้งหลายเป็นพุทธพจน์ ซึ่งเป็นคำดี การเปล่งเสียงพูดออกไปก็ย่อมเป็นสิ่งดี แต่ถ้ารู้ความหมายด้วยและทำให้จิตใจสงบด้วยก็จะดียิ่งขึ้น
- การสวดมนต์มี 3 ขั้นตอน 1. คำพูดที่ออกจากปากเป็นบทสวดมนต์ที่เป็นพุทธพจน์หรือไม่ 2. รู้ความหมายของคำพูดนั้นหรือไม่ 3. ทำให้จิตใจสงบหรือไม่ อาจทำได้ไม่ครบ 3 ขั้นตอน ก็ยังดีกว่าไม่สวดมนต์เลย
- “ทำนองการสวดมนต์” พระพุทธเจ้าไม่ให้สวดด้วยเสียงโดยยาว (เอื้อน สูง-ต่ำ) เพราะจะทำให้เกิดความกำหนัดได้ (เสียงเพลง) ทรงอนุญาตให้สวดเป็น “ทำนองสรภัญญะ” ได้ คือ ท่องสวดเป็นจังหวะ มีลักษณะเป็นคำฉันท์ คำคล้องจอง บทกลอน เป็นเทคนิคให้จำได้ง่ายขึ้น เพื่อสืบต่อคำสอน
Q2: ทำชีวิตให้เจริญทั้งทางโลกและทางธรรม
A: วิธีทำให้ “เจริญทางโลก” ประกอบด้วย 4 อย่าง
1. มีความขยันหมั่นเพียรในงาน (อุฏฐานสัมปทา)
2. รู้จักรักษาทรัพย์ (อารักขสัมปทา)
3. มีมิตรดี (กัลยาณมิตตตา) - มิตรที่มีศีล ศรัทธา จาคะ ปัญญา ที่ทำให้เราเกิดกัลยาณธรรม
4. มีสมดุลในชีวิต (สมชีวิตา) - ให้รายรับท่วมรายจ่าย รายจ่ายที่ควร 4 อย่าง คือ (1) เลี้ยงดูครอบครัว (2) ลงทุนหรือเก็บไว้ในวันฝนตก (3) สงเคราะห์ผู้อื่น (4) ทำบุญ
- คาถาเศรษฐี “อุ อา กะ สะ” มีที่มาจากคำสอนของพระพุทธเจ้า 4 ข้อนี้ ไม่ใช่แค่ท่อง แต่ต้องนำไปทำด้วย
- วิธีทำให้ “เจริญทางธรรม” ประกอบด้วย 4 อย่าง
1. ศรัทธา - ความมั่นใจ ไม่ใช่ความงมงาย ศรัทธาที่ถูกต้องต้องประกอบด้วยปัญญา คือ มีความเชื่อมั่น มั่นใจในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าว่าทรงตรัสรู้ดีแล้ว, สิ่งที่ท่านตรัสรู้/คำสอนของท่านเป็นสิ่งที่บอกสอนไว้ดีแล้ว, ใครก็ตามที่ปฏิบัติตามคำสอนนั้นจะต้องดีขึ้นมาได้ ให้มั่นใจในการลงมือปฏิบัติ มีเหตุต้องมีผล
2. ศีล - ศีล 5
3. จาคะ - การให้ การบริจาค รู้จักสละออก (ให้แบบสงเคราะห์ / ให้เพื่อหวังเอาบุญ)
4. ปัญญา - ฝึกให้เห็นความเกิดดับของสิ่งต่าง ๆ ว่าเป็นของไม่เที่ยง
- “ด้วยความขยันหมั่นเพียร รู้จักเก็บรักษาทรัพย์ มีเพื่อนดี รู้จักรายรับรายจ่าย จะทำให้เจริญทางโลก และด้วยศีล ศรัทธา จาคะ ปัญญา จะสามารถรักษาจิตให้อยู่ในทางธรรม เมื่อแก่ตัวลง สิ่งที่เราสะสมเหล่านี้จะมีกำลังมากขึ้น มีอินทรีย์แก่กล้ามากขึ้น เป็นปัจจัยให้เจริญทางธรรมต่อไปได้”
Q3: หมดไฟในการทำงาน
A: พระพุทธเจ้าอาศัยอิทธิบาท 4 ทำให้งานของท่าน คือ การเป็นพระพุทธเจ้าสำเร็จได้ เหล่าพระอรหันต์ทั้งหลายต่างสำเร็จความเป็นอรหันต์ได้ก็เพราะเจริญอิทธิบาท 4 ดังนั้น งานของเราซึ่งเป็นงานธรรมดา จะสำเร็จได้ก็ด้วยอิทธิบาท 4 เช่นกัน งานที่ถูกเติมด้วยอิทธิบาท 4 จะกลายเป็นมงคลในชีวิตทันที ถ้าตั้งจิตไว้ถูก
- อิทธิบาท 4 ประกอบด้วย
1. ฉันทะ - ความพอใจ รักในงานที่ทำ
2. วิริยะ - ความแข็งใจทำต่อไป ไม่เลิกแม้เจออุปสรรค วิริยะคือความมีระเบียบวินัย (ทำในสิ่งที่ต้องทำ ไม่ว่าจะอยากทำหรือไม่ก็ตาม)
3. จิตตะ - การเอาใจใส่ ตรวจสอบ ตรวจตรา ว่าทำถูกต้องหรือไม่
4. วิมังสา - การพิจารณา ตรวจตราเพื่อพัฒนาแก้ไขปรับปรุง ใช้วิธีการที่ดีขึ้น
- โดยมี “สมาธิ” เป็นตัวเชื่อม ประคับประคองไม่ให้เข้มงวดเกินไป (ฟุ้งซ่าน) หรือย่อหย่อนเกินไป (ขี้เกียจ) ไม่ให้ส่ายไปในภายนอก ไม่ให้ตั้งสยบอยู่ภายใน ให้งานนั้นมีฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ขึ้นเป็นประธานด้วยอาศัยสมาธิอยู่ตลอด
Q4: วิธีอยู่ร่วมกันของเจ้านาย และลูกน้อง
A: ลูกน้องเป็นหนึ่งในทิศทั้งหก หัวหน้าต้องบริหารจัดการลูกน้องโดยไม่ใช้อาชญาหรือศาตรา แต่ให้ใช้เมตตากรุณา เป็นโค้ช สนับสนุน แนะนำให้ลูกน้องเกิดการพัฒนา มีความก้าวหน้า ทั้งทางโลกและทางธรรม คือ 1. ให้ทำงานตามกำลัง 2. ให้อาหารและรางวัล 3. ให้รักษาพยาบาลยามเจ็บไข้ 4. แบ่งของที่มีรสประหลาดให้ 5. ปล่อยให้อิสระตามสมัย
Hosted on Acast. See acast.com/privacy for more information.
Create your
podcast in
minutes
It is Free